วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หูดับ ว่า สำหรับโรคไข้หูดับ เป็นชื่อโรคเดียวกับ โรคไข้หมูดิบ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อโรคใหม่ให้สอดคล้องกับสาเหตุเกิดโรค ให้ประชาชนตระหนักว่าโรคนี้มีหมูเป็นพาหะนำโรค โดยสถานการณ์โรคไข้หูดับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อจำนวน 310 ราย เสียชีวิต 13 ราย โดยผู้ป่วยมีทั้งแบบรายๆ และแบบกลุ่มก้อน (Cluster) พบผู้ป่วยกระจายอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย 5 จังหวัดที่พบมาก คือ อุบลราชธานี, สุรินทร์, มุกดาหาร, ศรีสะเกษ และ ตาก ตามลำดับ
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนข้อมูลเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 เฉลี่ยผู้ป่วย 416 ราย และเสียชีวิต 22 รายต่อปี หากดูจากข้อมูล 3 ปีย้อนหลัง พบว่า ในปี 2565 พบผู้ป่วย 383 ราย เสียชีวิต 10 ราย ปี 2566 มีผู้ป่วย 605 ราย เสียชีวิต 34 ราย และในปี 2567 มีผู้ป่วย 956 ราย และเสียชีวิต 59 ราย
เห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวมถึงปีนี้ด้วย ดังนั้นจะต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของการรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทหมู โดยเฉพาะการปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกคำแนะนำเตือนประชาชนอยู่ตลอด เพื่อให้มีการตระหนักรู้ถึงความอันตรายของโรค โดยเฉพาะค่านิยมการกินเนื้อที่ปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ พร้อมทั้งการเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
การติดเชื้อไข้หูดับ มีทั้งแบบรับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุก ซึ่งเป็นการติดเชื้อโดยตรง และมีการติดเชื้อจากการสัมผัส ผ่านผิวหนังที่มีแผล ดังนั้นแม้จะมีการปรุงเนื้อหมูที่สุกแล้ว แต่ก็มีการปนเปื้อนในระหว่างกระบวนการทำอาหารได้ จึงต้องเน้นย้ำทั้งผู้บริโภค คนขายเนื้อ รวมถึงการใช้ตะเกียบคีบหมูดิบและหมูสุกปนกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไต โรคตับหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้สูงกว่าคนทั่วไป อาการสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ ระยะแรกจะมีอาการทางระบบประสาททั่วไป เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายเหลว
อาการได้ยินลดลงนั้น เป็นอาการสำคัญของโรคไข้หูดับ แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการนี้ ดังนั้น หากมีประวัติสัมผัสเชื้อแต่อาจจะไม่มีอาการหูดับได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือประวัติการสัมผัสโรค ไม่ว่าจะเป็นการกินหรือการสัมผัสเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ จึงขอให้ยึดเอาพฤติกรรมการสัมผัสโรคเป็นหลัก หากมีประวัติดังกล่าวร่วมกับอาการที่ไม่สบาย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการเจาะเลือด หรือการเจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ